วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

ไข้เลือดออก


   โรคไข้เลือดออก คือ โรคติดเชื้อซึ่งมีสาเหตุมาจาก ไวรัสเดงกี่ (Dengue VIRUS) อาการของโรคนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดในช่วงแรก จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าตนเป็นเพียงโรคไข้หวัด และทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในทันที โรคไข้เลือดออกมีอาการและความรุนแรงของโรคหลายระดับตั้งแต่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยไปจนถึงเกิดภาวะช็อกซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต 
สถิติในปี พ.ศ. 2554 รายงานโดย กลุ่มโรคไข้เลือดออก สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง
   กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีอัตราป่วย 107.02 และอัตราป่วยตาย 0.10 ซึ่งหมายความว่า ในประชากรทุก 100,000 คน จะมีผู้ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ถึง 107.02 คน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 0.1 คน
การติดต่อ
   ไวรัสเดงกี่ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกสามารถมีชีวิตรอดและเพิ่มจำนวนภายในตัวของยุงลาย ยุงลายจึงเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก และกล่าวได้ว่าโรคไข้เลือดออกติดต่อจากคนสู่คน ยุงลายที่เป็นพาหะนี้มีชื่อว่า Aedes aegypti ยุงชนิดนี้ออกหากินเวลากลางวัน ยุงจะกัดและดูดเลือดที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่จากผู้ที่กำลังป่วยเป็นไข้เลือดออก เมื่อยุงลายไปกัดคนใหม่ ก็จะถ่ายทอดเชื้อให้กับคนที่ถูกยุงกัดต่อไป ยุงชนิดนี้อาศัยอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ประเทศไทยจึงเป็นอีกบริเวณหนึ่งที่มีการระบาดของโรคนี้ค่อนข้างสูง โดยพบการระบาดมากที่สุดในฤดูฝน ช่วงอายุของคนที่พบว่าป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมากที่สุด คือ คนอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ อายุ 15-24 ปี และ อายุ 5-9 ปี ตามลำดับ ส่วนช่วงอายุ 0-4 ปี และมากกว่า 25 ปี จนถึง 65 ปี เป็นช่วงอายุที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวนน้อยที่สุด
อาการ
   อาการของโรคนี้คล้ายคลึงกับโรคไข้หวัด กล่าวคือ มีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่แตกต่างกันที่ ไข้จะสูงกว่ามาก โดยอาจมีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะมีหน้าแดง และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อค่อนข้างมากกว่า หากทำการทดสอบโดยการรัดต้นแขนด้วยสายรัด (Touniquet test) จะพบจุดเลือดออก ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรืออาการเลือดออกผิดปกติอื่นๆ
และในบางรายที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจพบอาการซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบา-
แต่เร็ว ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะลดลง อาจถึงกับช็อกและเสียชีวิตได้ โดยอาการนำของภาวะช็อกมักเริ่มจากการมีไข้ลดลง ดังนั้นหากพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีไข้ลดลงตามด้วยอาการดังที่กล่าวมา ควรรีบแจ้งแพทย์หรือนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
   ในเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก มักพบว่า มีอาการในระยะเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งหากผู้ปกครองละเลยการพาผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยเด็กจะเสียชีวิตเนื่องจากการรักษาที่ล่าช้าได้ ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรสงสัยไว้ก่อนว่าบุตรหลานที่มีอาการไข้สูงในฤดูฝนอาจเป็นโรคไข้เลือดออก และควรรีบพาบุตรหลานไปรับการรักษา
การรักษา
   เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนายาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ การรักษาโรคนี้จึงเป็นการรักษาตามอาการเป็นสำคัญ กล่าวคือมีการใช้ยาลดไข้ เช็ดตัว และการป้องกันภาวะช็อก
   ยาลดไข้ที่ใช้มีเพียงชนิดเดียว คือ ยาพาราเซตามอล (paracetamol) ขนาดยาที่ใช้ในผู้ใหญ่คือ พาราเซตามอลชนิดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยไม่ควรรับประทานเกินวันละ 8 เม็ด (4 กรัม) ส่วนขนาดยาที่ใช้ในเด็กคือ พาราเซตามอลชนิดน้ำ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อครั้ง ทุก 4-6 ชั่วโมงโดยไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ครั้ง หรือ 2.6 กรัม ยาพาราเซตามอลนี้เป็นยารับประทานตามอาการ ดังนั้น หากไม่มีไข้ก็สามารถหยุดยาได้ทันที